วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเพณีวันสารทเดือนสิบ



ประเพณีวันสารทเดือนสิบ





       ปัจจุบันเราอาจจะรู้จักแต่ประเพณีของชาวตะวันตก ไม่ค่อยได้ใส่ใจกับพิธีไทยมากเท่าไหร่นัก ยิ่งชื่อพิธีสารท บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อแต่ "วันสารทจีน" ไม่เคยได้ยินชื่อ "สารทไทย" มาก่อน ซึ่งวันสารทไทย ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ เป็นเทศกาลทำบุญเดือน ๑ ของไทย และเพื่อเป็นความรู้ วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับวันสารทไทยมาฝากกัน  
ความหมายของคำว่า สารท

          พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาล และประเพณีไทยว่า คำว่า "สารท" เป็นคำอินเดีย หมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า "ออตอม" หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติ และผลไม้เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า "Seasonal Festival"

          โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า "ผลแรกได้" นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น

          สำหรับในพจนานุกรมไทย สารท มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน ๑๐ โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ จะตรงกับวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราวๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม

ต้นกำเนิดของ สารทไทย

          ในประเทศไทย การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เหตุใดต้องมีวิธีสารทไทย

           -เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข

           -ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน

           -เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่

           -เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้

           -เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป

           -เป็นแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจาก สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน ๑๐ นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน

๑. ประเพณีสารทเดือนสิบ     

ความเป็นมา     
        ประเพณีสารทเดือนสิบวิวัฒนาการมาจากประเพณีเปตพลีของพราหมณ์ ซึ่งลูกหลานจัดขึ้น เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ต่อมาพวกพราหมณ์จำนวนมากได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาและยังถือปฏิบัติในประเพณีดังกล่าวอยู่ พระพุทธองค์เห็นว่า ประเพณีนี้มีคุณค่า เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษนำความสุขใจให้ผู้ปฏิบัติ จึงทรงอนุญาตให้อุบาสกอุบาสิกาประกอบพิธีนี้ต่อไปได้ ประเพณีสารทเดือนสิบมีมาตั้งแต่พุทธกาลคาดว่า เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในนครศรีธรรมราชจึงรับประเพณีนี้มาด้วย ทำบุญสารทเดือนสิบเมืองคอน เป็นงานบุญเพื่อุทิศส่วนกุศล ให้บรรพบุรุษ ญาติพี่น้อง ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ยังมีกรรมต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ ในวันสารทเดือนสิบ ยมพบาลจะปลดปล่อยให้ออกมาเยี่ยมลูกหลาน เพื่อมารับส่วนบุญกุศลที่บรรดาลูกหลาน ญาติพี่น้องทำบุญให้ มีเพียงปีละครั้ง คือในวัน แรม ๑๔ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (ซึ่งจะประมาณ ปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม) พอถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ต้องหลับไปชดใช้กรรมตามเดิม จนกว่าจะหมดเวรหมดกรรมต่อไป

        •งานบุญสารทเดือนสิบ จะเริ่ม ตั้งแต่วัน แรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่าวันจ่าย พ่อค้าแม่ค้าจะนำของมาขาย ที่ตลาดทุกแห่ง จะคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนมาจับจ่ายซื้อของ เพื่อเอาไปจัด หมรับ ต้องใส่ พืชผักผลไม้และที่สำคัญต้องมีขนมเดือนสิบ มีขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซัม ขนมไข่ปลา ข้าวกระยาสารท และขนมอื่นๆ ทั่วไปที่มีขายในตลาด

        •วันแรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันยก หมรับไปถวายวัด มีการตกแต่งกันอย่างสวยงามตามฐานะของแต่ละคน หรือหมู่คณะ มีขบวนแห่กันครึกครื้น สวยงาม มีการประกวด หมรับ เพื่อชิงรางวัล ถือเป็นงานประจำปีอันยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า "งานเดือนสิบ"

        •วันแรม ๑๕ ค่ำ จะเป็นวันทำบุญอีกเป็นวันสุดท้าย เมื่อถวายเพลพระ และบังสกุลเสร็จแล้ว ก็จะเอาขนมเดือนสิบ ไปวางไว้ ตามต้นไม้ หรือกำแพงวัด แต่บางวัดได้จัดที่วางไว้ให้ โดยเฉพาะ เรียกว่าการ "ตั้งเปรต" คือให้พวกผีไม่มีญาติ ได้กิน หลังจากการตั้งเปรตและอุทิศส่วนกุศลแล้ว บุคคลทั่วไปเข้าไปแย่งชิงขนมเหล่านั้นได้ เรียกว่า "ชิงเปรต" เป็นอันเสร็จสิ้นการทำบุญสารทเดือนสิบ
        ช่วงเวลา ระยะเวลาของการประกอบพิธีสารทเดือนสิบมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญคือวันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ
ระยะเวลาดำเนินการ  
        วันแรม ๑ ค่ำ ถึงแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ แต่ชาวนครศรีธรรมราช นิยมทำบุญคือ วันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ 
สำหรับการจัดงานเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ถึง วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี รวม ๑๐ วัน ๑๐ คืน
  
พิธีกรรม  
พิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ มีดังนี้
                ๑. การจัดหฺมฺรับ เริ่มในวันแรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมใส่หฺมฺรับ การจัดหฺมฺรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กาละมัง เข่ง กระเชอ เป็นต้น ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองเป็นพืชผักที่เก็บไว้นาน ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ขั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ


 ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้
        ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม


        ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ



          ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย


          ขนมบ้า เป็นเสมือนเมล็ดสะบ้า ไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์


            ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตรา ไว้ให้ใช้สอย            



             ๒. การยกหฺมฺรับ ในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะยกหฺมฺรับที่จัดเตรียมไว้ไปวัด และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย โดยเลือกไปวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมไป



             ๓. การฉลองหฺมฺรับและบังสุกุล เมื่อนำหมฺรับไปวัดแล้ว จะมีการฉลองหฺมฺรับ และทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วจึงมีการบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก


              ๔. การตั้งเปรต     
        เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด ข้างกำแพงวัด โคนไม้ใหญ่ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาร่วมทำบุญให้ การชิงเปรตจะทำตอนตั้งเปรตเสร็จแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าหากใครได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะได้รับกุศลเป็นสิริมงคลแก่ตนเองบางวัดนิยมสร้างหลาเปรต เพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต บางวัดสร้างหลาเปรตไว้บนเสาสูงเพียงเสาเดียว เกลาและชะโลมน้ำมันเสาจนลื่น เมื่อเวลาชิงเปรตผู้ชนะคือผู้ที่สามารถปีนไปถึงหลาเปรตซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงสนุกสนานและตื่นเต้น


                สาระสำคัญ    
๑.เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ โดยรำลึกถึงคุณความดีของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
๒.เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกลได้มาพบปะซักถามสารทุกข์สุกดิบต่อกันและได้โอกาสทำบุญร่วมกัน
๓.เป็นการเก็บเสบียงอาหารมีทั้งพืชผักอาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูปจัดนำไปถวายในรูปหมรับหรือสำรับ เพื่อที่ทางวัดจะได้เก็บรักษาไว้เป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน